แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ อีโบลา แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ อีโบลา แสดงบทความทั้งหมด

วันอังคารที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2557

EBOLA ระบาดหนักล่าสุดตายแล้ว 1,013 ราย และมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 1,848 ราย


EBOLA ระบาดหนักล่าสุดตายแล้ว 1,013 ราย และมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 1,848 ราย 
โดยในช่วง3วันที่ผ่านมามีชาว ไลบีเรีย เสียชีวิตถึง 29 คน ตามด้วย เซียร์ราลีโอน 17 คน และประเทศกินี 6 คน

ที่มา: สำนักข่าวรอยเตอร์
http://www.reuters.com/article/2014/08/11/us-health-ebola-toll-idUSKBN0GB27Z20140811

WHO and partners respond to the outbreak of Ebola virus disease in Guinea

WHO: Ebola Outbreak Is a Public Health Emergency



อนามัยโลกประกาศให้ไวรัสอีโบลาเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 12 ส.ค. ว่าบาทหลวงมิเกล ปาฮาเรส ชาวสเปน กำลังจะเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลาคนที่ 3 ของโลก ที่จะได้รับการทดลองรักษาด้วยยา "ซีแมปป์" ต่อจากนพ.เคนท์ แบรนท์ลีย์ และพญ.แนนซี ไรท์โบล แพทย์อาสาชาวอเมริกัน 2 คน ซึ่งได้รับเชื้อไวรัสมรณะชนิดนี้ ขณะทำงานอาสาอยู่ในไลบีเรีย

อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก ( ฮู ) และผู้เชี่ยวชาญในวงการแพทย์จำนวนไม่น้อยยังคงมีความสงสัยกับยาชนิดนี้ซึ่งยังคงอยู่ในขั้นทดลอง ว่าอาจไม่สามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาได้อย่างถาวร

ทั้งนี้ ยาซีแมปป์เป็นเซรั่มทดลองที่สกัดจากสารภูมิต้านทาน 3 ชนิด เพื่อหวังใช้เป็นตัวหยุดยั้งและทำลายเชื้อไวรัสอีโบลา อย่างไรก็ตาม บริษัท "แมปป์ ไบโอฟามาซูติคัล" ของสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้พัฒนายาชนิดนี้ ยังคงเก็บข้อมูลของยาเอาไว้เป็นความลับสุดยอด โดยเผยเพียงเคยมีการนำยามาทดลองใช้กับลิงจำนวนหนึ่งที่ติดเชื้อ ซึ่งผลปรากฎว่า 43% ของลิงที่รับการทดลองหายจากอาการป่วย

นอกจากนี้ กระบวนการผลิตที่ซับซ้อนและยุ่งยาก การโคลนสารภูมิต้านทานเข้าไปในต้นยาสูบแล้วรอให้เกิดกระบวนการก่อนสกัดสารภูมิต้านทานบริสุทธิ์ออกมาอีกครั้งนั้นใช้เวลานานมาก กว่าจะได้ 1 โดสอาจต้องใช้เวลานานถึง 2 เดือนเลยทีเดียว กระนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังหาทางเร่งการผลิตให้มีความเร็วขึ้นกว่าที่เป็นอยู่เช่นกัน

แม้อาการของนพ.แบรนท์ลีย์และพญ.ไรท์โบลจะดีขึ้น แต่ยังไม่มีรายงานชิ้นใดสามารถพิสูจน์ได้อย่างเป็นรูปธรรมว่า เกิดจากผลการทำงานของยาซีแมปป์จริง ขณะที่ทั้งฮูและศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐ ( ซีดีซี ) ยังคงยืนยันว่า จนถึงปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนและยาตัวใดสามารถป้องกันและรักษาอาการป่วยที่เป็นผลจากการได้รับเชื้อไวรัสอีโบลาได้ 100% วิธีทางการแพทย์ในเวลานี้เป็นเพียงการรักษาตามอาการ โดยเน้นเรื่องการควบคุมความดันโลหิตของผู้ป่วยให้อยู่ในระดับปกติ และกักบริเวณในสถานที่แห้งสะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อเพิ่มเติมเท่านั้น

นอกเหนือจากยาซีแมปป์แล้ว มีรายงานด้วยว่า บริษัทเท็กมิรา จากแคนาดา กำลังพัฒนาตัวยาสำหรับรักษาอาการป่วยจากเชื้อไวรัสชนิดนี้ด้วยเช่นกัน ขณะที่ฮูอยู่ระหว่างหารือเป็นการภายใน เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการนำยาทดลองลักษณะนี้มาใช้จริงในวงจำกัด แม้ตัวยาจะยังไม่ได้รับใบอนุญาตก็ตาม

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากการใช้ยาเหล่านี้ไม่ได้ผล หรือไม่สามารถจำกัดของเขตของการแพร่ระบาดได้ วิธีที่ "ดีที่สุด" คงหนีไม่พ้นวิธีดั้งเดิม นั่นคือมาตรการเฝ้าระวังผู้แสดงอาการป่วยคล้ายเป็นผลจากเชื้อไวรัสอีโบลา การกักบริเวณผู้ได้รับเชื้อ และการให้ความรู้กับประชาชนอย่างถูกต้อง ว่าเชื้อไวรัสอีโบลาติดต่อผ่านการสัมผัสโดยตรงกับของเหลวที่ออกมาจากร่างกายของผู้ป่วยเท่านั้น ขณะที่วิธีการกำจัดร่างผู้เสียชีวิตต้องผ่านกระบวนการทำลายที่ถูกสุขลักษณะกว่านี้ เพื่อตัดความเสี่ยงที่เชื้อจะแพร่กระจายออกจากศพด้วย

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/

วันจันทร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2557

โรคไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease)


โรคไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease)

ที่มา: http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs103/en/
แปลโดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์, ฝ่ายสื่อวิทยาศาสตร์ สวทช., 31 ก.ค. 2014
แผ่นเอกสารข้อเท็จจริง N°103, อัพเดทล่าสุดโดย WHO, เม.ย. 2014

ข้อเท็จจริงหลัก
โรคไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease, EVD) เดิมรู้จักกันในชื่อ โรคไข้เลือดออกอีโบลา (Ebola haemorrhagic fever) เป็นโรคร้ายแรง ที่บ่อยครั้งทำให้เสียชีวิต
การระบาดของ EVD มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 90%
การระบาดของ EVD โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในหมู่บ้านห่างไกลแถบแอฟริกากลางและตะวันตก ใกล้กับพื้นที่ป่าเขตร้อน
ไวรัสส่งผ่านจากสัตว์ป่าไปยังคนและแพร่กระจายในกลุ่มประชากรผ่านการถ่ายทอดให้กันโดยคน
ค้างคาวผลไม้ในสกุล Pteropodidae เป็นสัตว์ฟักตัวหลักของไวรัสอีโบลา
ผู้ป่วยหนักต้องการการดูแลรักษาอย่างเข้มงวด ยังไม่มีวัคซีนหรือวิธีการรักษาแบบจำเพาะที่ได้รับการรับรองให้ใช้ในคนหรือสัตว์
อีโบลาระบาดขึ้นครั้งแรกในปี 1976 พร้อมๆ กันสองแห่งคือ ในเมือง Nzara ประเทศซูดาน และในเมือง Yambuku ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ในกรณีหลังเกิดขึ้นที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำอีโบลา (Ebola River) ซึ่งกลายมาเป็นชื่อของโรคนี้ในที่สุด

ไวรัสในสกุลอีโบลา (Genus Ebolavirus) เป็น 1 ในสมาชิก 3 ชนิดของไวรัสวงศ์ Filoviridae (filovirus) ที่เหลือคือ สกุล Marburgvirus และ Cuevavirus ในสกุล Ebolavirus มีสปีชีส์ที่แตกต่างกัน 5 สปีชีส์คือ
Bundibugyo ebolavirus (BDBV)
Zaire ebolavirus (EBOV)
Reston ebolavirus (RESTV)
Sudan ebolavirus (SUDV)
Taï Forest ebolavirus (TAFV)
BDBV, EBOV และ SUDV เกี่ยวข้องกับการระบาดใหญ่ของ EVD ในแอฟริกา ขณะที่ RESTV และ TAFV ไม่เกี่ยวข้อง สปีชีส์ RESTV ที่พบในประเทศฟิลิปปินส์ และสาธารณรัฐประชาชนจีน ติดต่อสู่คนได้ แต่ยังไม่พบกรณีที่ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต

การแพร่กระจายของโรค
อีโบลาติดได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับเลือด, สารคัดหลั่ง, อวัยวะ หรือของเหลวแบบอื่นๆ จากสัตว์ที่ติดเชื้อ ในแอฟริกามีหลักฐานว่า การติดเชื้อเกิดจากการเกี่ยวข้องสัมผัสกับชิมแปนซี, กอริลล่า, ค้างคาวผลไม้, ลิง, แอนทีโลปป่า (forest antelope) และเม่น ซึ่งป่วยหรือตาย หรืออยู่ในป่าฝน
อีโบลาแพร่กระจายเข้าชุมชนผ่านการติดต่อจากคนสู่คน โดยการติดเชื้อเกิดจากการสัมผัสโดยตรง (ผ่านผิวหนังที่ถลอกหรือผ่านเยื่อบุ) กับเลือด, สารคัดหลั่ง, อวัยวะ หรือของเหลวอื่นๆ จากร่างกายของผู้ติดเชื้อ และผ่านการสัมผัสทางอ้อมจากสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนของเหลวเหล่านั้น พิธีฝังศพที่ผู้มาร่วมไว้อาลัยสัมผัสโดยตรงกับร่างกายของศพมีส่วนสำคัญในการแพร่กระจายของอีโบลาเช่นกัน ผู้ที่รอดชีวิตมาได้ยังคงความสามารถในการส่งผ่านเชื้อไวรัสทางน้ำเชื้อได้นานถึง 7 สัปดาห์ภายหลังจากหายจากโรคแล้ว
บ่อยครั้งที่มีรายงานการติดเชื้อในบุคลากรการแพทย์ขณะกำลังรักษาผู้ป่วยที่สงสัยหรือยืนยันว่าติดเชื้อแล้ว ซึ่งอาจเกิดจากการสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยไม่ได้ควบคุมหรือระมัดระวังตัวตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด
ในการติดเชื้อจากการสัมผัสกับลิงหรือสุกรที่ติดเชื้ออีโบลาแบบ Reston หลายกรณีเกิดขึ้นในคนโดยไม่ปรากฏอาการเจ็บป่วยใดๆ ดังนั้นดูเหมือน RESTV จะมีความสามารถในการก่อโรคในคนต่ำกว่าอีโบลาสปีชีส์อื่นๆ
อย่างไรก็ตาม หลักฐานดังกล่าวมาจากกรณีของชายหนุ่มสุขภาพดีเพียงรายเดียว จึงอาจจะเป็นการด่วนสรุปเกินไปที่จะแปลผลด้านสุขภาพของไวรัสดังกล่าวให้ครอบคลุมประชากรมนุษย์ทั้งหมด เช่น ครอบคลุมผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันไม่ดีเท่า หรือคนที่อยู่ระหว่างการรักษาตัว, คนตั้งครรภ์ และเด็ก จำเป็นต้องมีการศึกษา RESTV เพิ่มขึ้นก่อนที่จะสรุปได้อย่างแน่ชัดเกี่ยวกับความสามารถในการก่อโรค และความรุนแรงของโรคของไวรัสชนิดนี้ในมนุษย์

สัญญาณหรืออาการป่วย
EVD ก่อโรคแบบเฉียบพลันและรุนแรง ซึ่งบ่อยครั้งพิจารณาได้จากการมีไข้อย่างปุบปับ, การรู้สึกไม่สบายหรือร่างกายอ่อนแออย่างมาก, เจ็บปวดกล้ามเนื้อ, ปวดหัว และเจ็บคอหอย ตามมาด้วยการอาเจียน, ท้องเสีย, เกิดผื่น, ไตและตับล้มเหลว และในบางกรณีอาจพบการตกเลือดทั้งภายในและภายนอกร่างกาย การศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่า เซลล์เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดลดต่ำลง และมีเอนไซม์ตับเพิ่มมากขึ้น
ผู้ที่ติดเชื้อนั้นตราบใดที่ยังมีไวรัสและสารคัดหลั่งอยู่ในตัว พบว่าก็ยังสามารถแพร่เชื้อได้ ดังกรณีตัวอย่างของชายคนหนึ่งที่ติดเชื้อในห้องปฏิบัติการ ยังพบไวรัสอีโบลาได้จากน้ำเชื้อ 61 วันหลังจากเริ่มป่วย
ช่วงระยะฟักตัว (ช่วงเวลาหลังจากติดเชื้อไวรัสจนเริ่มมีอาการ) อยู่ที่ 2-21 วัน

การวินิจฉัยโรค
มีหลายโรคที่ควรวินิจฉัยแยกแยะและตัดออกก่อนที่จะวินิจฉัยว่าเป็น EVD คือ มาลาเรีย, ไข้ไทฟอยด์, ชิเกลล่า, อหิวาตกโรค, โรคฉี่หนู, กาฬโรค, ริกเกตเซีย, ไข้กลับ, ไข้สมองอักเสบ, ตับอักเสบ, และโรคไข้เลือดออกอื่นๆ ที่เกิดจากไวรัส การวินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสอีโบลาอย่างแน่ชัด ทำได้ด้วยวิธีการทดสอบหลายแบบดังนี้
antibody-capture enzyme-linked immunosorbent assay (ELISA) (อีไลซา)
antigen detection tests (การตรวจแอนติเจน)
serum neutralization test (การตรวจซีรั่มนิวทรัลไลเซชัน)
reverse transcriptase polymerase chain reaction (RT-PCR) assay (วิธี RT-PCR)
electron microscopy (การส่องกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน)
virus isolation by cell culture (การเลี้ยงเซลล์เพื่อสกัดแยกเชื้อไวรัส)
สารตัวอย่างที่จะใช้ตรวจสอบซึ่งมาจากผู้ป่วยถือว่า มีความเสี่ยงด้านชีวภาพอย่างยิ่ง ดังนั้น การตรวจสอบจึงควรทำภายใต้สภาวะปิดทางชีวภาพที่มีความปลอดภัยสูงสุด

วัคซีนและการรักษา
ยังไม่มีวัคซีนสำหรับ EVD ที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ มีวัคซีนหลายชนิดที่อยู่ระหว่างการทดสอบ แต่ยังไม่มีชนิดใดเลยที่พร้อมสำหรับให้ใช้ทางคลินิกได้
ผู้ป่วยหนักต้องการการรักษาอย่างเข้มงวดมาก ผู้ป่วยมักมีอาการขาดน้ำ และต้องการน้ำและ  สารละลายที่มีสารเกลือแร่ผ่านทางปากเพื่อชดเชย หรืออาจให้น้ำเกลือใต้ผิวหนัง

ยังไม่มีวิธีการรักษาอย่างจำเพาะเจาะจง ยาชนิดใหม่ๆ อยู่ระหว่างการประเมินผล

สัตว์เจ้าเรือนของไวรัสอีโบลา
ในแอฟริกา ค้างคาวผลไม้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสกุล Hypsignathus monstrosus, Epomops franqueti และ Myonycteris torquata อาจเป็นสัตว์เจ้าเรือนตามธรรมชาติสำหรับไวรัสอีโบลา เนื่องจากพบว่ามีการซ้อนเหลื่อมทางภูมิศาสตร์ของกระจายตัวของค้างคาวผลไม้และไวรัสอีโบลา

ไวรัสอีโบลาในสัตว์

แม้ว่าไพรเมต (ลิงไร้หาง) อื่นๆ ที่ไม่รวมคนอาจจะเป็นแหล่งรังโรคสำหรับคนได้ แต่เชื่อกันว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น และน่าจะมาจากการติดเชื้อโดยบังเอิญของมนุษย์มากกว่า เนื่องจากพบการระบาดของอีโบลาในปี 1994 จากสปีชีส์ EBOV และ TAFV ในชิมแปนซีและกอริลลา

RESTV เป็นต้นเหตุการระบาดอย่างหนักของ EVD ในลิง Macaca fascicularis ที่เลี้ยงในประเทศฟิลิปปินส์ และยังตรวจพบในลิงที่นำเข้าไปยังสหรัฐฯ ในปี 1989, 1990 และ 1996 และในลิงที่นำเข้าประเทศอิตาลีจากฟิลิปปินส์ในปี 1992 และตั้งแต่ปี 2008 ตรวจพบไวรัส RESTV ระหว่างการระบาดของโรคพิฆาตนี้ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและฟิลิปปินส์ มีรายงานการติดเชื้อในสุกรที่ไม่มีอาการ และการทดสอบฉีดเชื้อในห้องปฏิบัติการแสดงให้เห็นว่า RESTV ไม่ทำให้เกิดโรคในสุกร

การป้องกันและการควบคุม
 การควบคุมอีโบลาไวรัส Reston ในสัตว์เลี้ยง
 ยังไม่มีวัคซีนในสัตว์สำหรับ RESTV การทำความสะอาดและการฆ่าเชื้อของฟาร์มสุกรและลิงเป็นกิจวัตร (ด้วยโซเดียมโฮโปคลอไรท์หรือสารซักฟอกอื่นๆ) น่าจะมีประสิทธิภาพพอที่จะทำให้ไวรัสหมดฤทธิ์ได้

ในกรณีที่สงสัยว่าเกิดการระบาดขึ้น ควรใช้การกักโรคทันที สัตว์ที่ติดเชื้อต้องกำจัดทิ้งโดยการดูแลอย่างใกล้ชิดทั้งการกลบฝังหรือการเผาซาก มาตรการดังกล่าวอาจจำเป็นสำหรับลดความเสี่ยงจากการแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คน  การจำกัดหรือห้ามการเคลื่อนย้ายสัตว์จากฟาร์มที่ติดเชื้อไปยังบริเวณอื่นๆ ช่วยลดการแพร่กระจายของโรคได้

มักมีการระบาดของ RESTV ในสุกรและลิงก่อนการติดเชื้อในคน การสร้างระบบเฝ้าระวังสัตว์ที่แอกทีฟจะช่วยตรวจหากรณีใหม่ๆ ได้ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเตือนภัยแต่เนิ่นๆ สำหรับสัตวแพทย์และสำหรับผู้มีอำนาจหน้าที่ด้านสาธารณสุข

การลดความเสี่ยงของการติดเชื้ออีโบลาในคน
การที่ไม่มีวัคซีนและวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพในมนุษย์ ทำให้เกิดความห่วงใยว่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับการติดเชื้ออีโบลา และมาตรการป้องกันตนเองสำหรับบุคคลถือเป็นวิธีการเดียวที่ช่วยลดการติดเชื้อและการเสียชีวิตในมนุษย์ได้

ในทวีปแอฟริการะหว่างการระบาดของ EVD การให้ข้อมูลข่าวสารด้านสาธารณสุขต่างๆ จะช่วยลดความเสี่ยงได้ โดยต้องเน้นไปยังปัจจัยบางประการดังนี้
 การลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อจากสัตว์ป่าสู่คนที่เกิดจากการสัมผัสกับค้างคาวผลไม้ หรือลิง/ เอปที่ติดเชื้อ และจากการทานเนื้อสดของสัตว์เหล่านี้ การหยิบจับสัตว์เหล่านี้ควรใช้ถุงมือและชุดอุปกรณ์ป้องกันอื่นๆ ที่เหมาะสม ควรปรุงผลิตภัณฑ์จากสัตว์ (เลือดหรือเนื้อ) ให้สุกอย่างทั่วถึงก่อนการรับประทาน
การลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อจากคนสู่คนในชุมชน ที่เกิดจากการสัมผัสทางตรงหรืออย่างใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชากของเหลวแบบต่างๆ จากร่างกาย ควรงดเว้นการสัมผัสทางกายภาพอย่างใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคอีโบลา ควรสวมถุงมือและอุปกรณ์ป้องกันตนเองที่เหมาะสมเมื่อต้องดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ควรล้างมือบ่อยๆ หลังจากไปเยี่ยมผู้ป่วยที่โรงพยาบาล เช่นเดียวกับหลังจากที่ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน
ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากอีโบลาควรให้ข้อมูลของโรคและข้อมูลมาตรการการรับมือและจำกัดการระบาด ซึ่งรวมทั้งการฝังกลบซาก ควรฝังผู้ที่เสียชีวิตจากอีโบลาทันทีอย่างระมัดระวัง ฟาร์มสุกรในแอฟริกามีบทบาทสำคัญในการเพิ่มการติดเชื้อ หากมีค้างคาวผลไม้ปรากฏในฟาร์มเหล่านั้น ควรเลือกใช้มาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity) ที่เหมาะสมในการจำกัดการแพร่กระจายของเชื้อ สำหรับ RESTV นั้น การให้ข้อมูลด้านสาธารณสุขควรเน้นเรื่องการลดความเสี่ยงจากการติดต่อของเชื้อจากสุกรสู่คน ที่เป็นผลมาจากวิธีการเลี้ยงและฆ่าสัตว์อย่างไม่ปลอดภัย และการรับประทานเลือดสด นมสด และเนื้อสัตว์สดๆ อย่างไม่ปลอดภัย ควรสวมถุงมือและอุปกรณ์ป้องกันตนเองที่เหมาะสมเมื่อต้องจัดการกับสัตว์ป่วยหรือเนื้อของมัน และเมื่อต้องชำแหละสัตว์ต่างๆ ในบริเวณที่มีรายงานว่าพบ RESTV ในสุกร ควรปรุงผลิตภัณฑ์ทุกอย่างจากสัตว์ (เลือด, เนื้อ และนม) ให้สุกอย่างทั่วถึงก่อนบริโภค

การควบคุมการติดเชื้อในระบบดูแลผู้ป่วย
การติดต่อของเชื้อไวรัสอีโบลาจากคนสู่คน มักเกี่ยวข้องกับการสัมผัสทางตรงหรือทางอ้อมกับเลือดหรือของเหลวอื่นของร่างกาย มีรายงานการติดเชื้อในบุคลากรการแพทย์ในกรณีที่ไม่มีมาตรการควบคุมการติดเชื้ออย่างเหมาะสม บางครั้งก็เป็นไปได้ที่จะจำแนกผู้ป่วยติด EBV ไม่ได้แต่เนิ่นๆ เนื่องจากอาการเบื้องต้นไม่จำเพาะ (คล้ายกับอีกหลายโรค) ด้วยเหตุนี้จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่บุคลากรการแพทย์ต้องใช้มาตรการระมัดระวังเบื้องต้นแบบมาตรฐานกับผู้ป่วยทุกคน ไม่ว่าผลการวินิจฉัยจะเป็นเช่นใด ตลอดเวลาการทำงานในทุกขั้นตอน ซึ่งรวมทั้งการรักษาความสะอาดพื้นฐานของมือ, ความสะอาดของระบบหายใจ, การใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองแบบต่างๆ (เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการกระเด็นหรือการสัมผัสสิ่งต่างๆ ที่ติดเชื้อ), การฉีดยาอย่างปลอดภัย และการฝังกลบอย่างปลอดภัย

บุคลากรการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยซึ่งต้องสงสัยหรือยืนยันแล้วว่าติดเชื้อไวรัสอีโบลาควรเพิ่มเติมมาตรการจากข้อควรระวังพื้นฐาน ได้แก่มาตรการควบคุมการติดเชื้อ เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเลือดหรือของเหลวอื่นจากร่างกายของผู้ป่วย และการสัมผัสโดยตรงโดยไม่ป้องกันตัวเองในสิ่งแวดล้อมที่อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อ เมื่อต้องสัมผัสโดยตรง (ระยะไม่เกิน 1 เมตร) กับผู้ป่วยที่ติด EBV บุคลากรการแพทย์ควรสวมอุปกรณ์ป้องกันใบหน้า (หน้ากากหรือเครื่องป้องกัน และแว่นป้องกัน), ชุดกาวน์แขนยาวสะอาด, และถุงมือ (ในบางขั้นตอนควรใช้ถุงมือปลอดเชื้อ) บุคลากรห้องปฏิบัติการก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ผู้ที่จะตรวจสอบตัวอย่างจากสัตว์และจากผู้สงสัยว่าติดเชื้ออีโบลา ควรจะผ่านการฝึกและทำด้วยวิธีการและห้องปฏิบัติการที่มีความเหมาะสม  

การตอบสนองโดยองค์การอนามัยโลก (WHO)
WHO มีทั้งผู้เชี่ยวชาญและเอกสารที่ใช้สนับสนุนการสืบสวนและควบคุมโรค

เอกสารคำแนะนำสำหรับการควบคุมการติดเชื้อขณะดูแลผู้ป่วยที่ต้องสงสัยหรือยืนยันว่าติดเชื้อไข้เลือดออกอีโบลา มีชื่อเอกสารว่า Interim infection control recommendations for care of patients with suspected or confirmed Filovirus (Ebola, Marburg) haemorrhagic fever, March 2008. เอกสารนี้ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัย

WHO ยังได้คิดค้นแบบช่วยบันทึกความจำที่ใช้ประกอบข้อควรระวังมาตรฐานสำหรับการปฏิบัติงานด้านการแพทย์ (ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัย) ข้อควรระวังมาตรฐานมีไว้เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่กระจายของเชื้อผ่านเลือดหรือเชื้อโรคอื่นๆ หากมีการนำไปใช้อย่างกว้างขวาง ข้อควรระวังนี้จะช่วยป้องกันการแพร่เชื้อส่วนใหญ่ผ่านการสัมผัสกับเลือดและข้อเหลวจากร่างกายได้

แนะนำให้ใช้ข้อควรระวังมาตรฐานนี้ขณะดูแลหรือรักษาผู้ป่วยทุกคน โดยไม่จำเป็นต้องยืนยันว่าติดเชื้อจริงหรือไม่ ซึ่งข้อควรระวังดังกล่าวก็รวมทั้งระดับพื้นฐานที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อ—การรักษาความสะอาดของมือ, การใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือดหรือของเหลวต่างๆ จากร่างกาย, การป้องกันเข็มฉีดยาและการบาดเจ็บจากอุปกรณ์มีคมอื่น และชุดควบคุมสิ่งแวดล้อม



ข้อมูลเพิ่มเติม :
WHO Media centre
Telephone: +41 22 791 2222
E-mail: mediainquiries@who.int



หมายเหตุ: อ้างอิงบทความแปลไทยจากเว็บไซต์ สวทช
http://www.nstda.or.th/nstda-knowledge/18562-ebola-virus-disease

วันอาทิตย์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2557

Ebola outbreak response and needs by Dr Nestor NDAYIMIRIJE





WHO responds to Ebola virus disease outbreak in West Africa




อีโบลา ระบาดหนักล่าสุดตายแล้ว961ราย


อีโบลา | Ebola virus disease


อีโบลาระบาดหนักล่าสุดตายแล้วกว่า 961 ราย ข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก ระหว่างวันที่ 4-6 สิงหาคม 2014 คาดว่าน่าจะมีการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆน่ากลัวจริงๆครับ


ที่มาของชื่อ ไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease)


ที่มาของชื่อ ไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease)

ที่มาของชื่อ ไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease)
อีโบลา (ebola) คือชื่อแม่น้ำสายหนึ่งที่อยู่ในทวีปแอฟริกากลาง ด้วยเหตุที่ว่าแม่น้ำแห่งนี้อยู่ใกล้กับหมู่บ้านที่ถูกค้นพบไวรัสชนิดนี้ เขาก็เลยนำชื่อแม่น้ำประจำถิ่นมาตั้งเป็นชื่อ ไวรัสสายพันธุ์มรณะ ไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease) 

กลุ่มประเทศแรกๆที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลา ก็คือ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และ ประเทศซูดาน ซึ้งเป็นประเทศที่อยู่ในทวีปแอฟริกากลางนั้นเองครับ.

สรุปผู้ต้องสงสัยติดเชื้ออีโบลา

สรุปผู้ต้องสงสัยติดเชื้ออีโบลา

สรุปผู้ต้องสงสัยติดเชื้ออีโบลา และกรณีการเสียชีวิตจากโรคไวรัสอีโบลา ในประเทศ กินี, ไลบีเรีย, ไนจีเรียและเซียร์ราลีโอน ข้อมูล ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2014


โรคไวรัสอีโบลา


โรคไวรัสอีโบลา หรือ ไข้เลือดออกอีโบลา

โรคไวรัสอีโบลา หรือไข้เลือดออกอีโบลา
เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสอีโบลา ผู้ที่สัมผัสหรือป่วยจากไวรัสอีโบลา จะมีอาการไข้ เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อและปวดศีรษะ จากนั้นจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และ ท้องร่วง บางคนเริ่มมีปัญหาเลือดออก ทางปากหรือหลอดเลือดดำ ถึงแม้ปัจุบันจะมีความพยายามพัฒนาวัคซีนรักษาโรค แต่ จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีวัคซีนรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ มันจึงได้ชื่อว่า...มฤตยูสายพันธุ์มรณะฆ่าล้างโลก.